วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หนังสือผู้วินิจฉัย ครั้งที่4 อาทิตย์ที่ 25:10:2009

กิเดโอน ตอนที่๓ ผวฉ.8:1-21
หลังจากที่คนเอฟราอิมได้กำจัดชาวมีเดียนที่พยายามหลบหนีได้แล้ว พวกเขาก็หันมาต่อว่ากิเดโอนด้วยความน้อยใจว่า ทำไมไม่ชวนพวกเขาไปร่วมรบตั้งแต่แรกเหมือนไม่ให้เกียรติกัน แต่กิเดโอนก็ได้ตอบพวกเขาอย่างใจเย็นว่า “ผลองุ่นที่กิเดโอนกับกองทหารเก็บนั้นไม่สำคัญเท่ากับผลองุ่นที่คนเอฟราอิมเก็บเล็ม...”
อันนี้เป็นการพูดยกย่องสรรเสริญ เพราะคนเอฟราอิม..ได้ฆ่าเจ้านายคนสำคัญของพวกมีเดียน ส่วนกิเดโอนกับพวกน่ะ..ถึงจะฆ่าชาวมีเดียนไปเยอะแต่ก็เป็นแค่พลทหาร จะไปสำคัญเท่ากับสิ่งที่คนเอฟราอิมทำได้ไง (อ่ะ..รู้จักพูด ก็เลยโอเค สมานฉันท์ ) คนเอฟราอิมก็เลยหายงอนไม่ติดใจอะไรอีก นี่แหละ..อานุภาพของสิ่งที่ออกมาจากปากคน ที่น้าตุ๊กเคยสอนแล้วว่า มันมีอานุภาพทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลายล้าง อาจเปลี่ยนเย็นเป็นร้อน หรือจากร้อนให้ผ่อนคลาย เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร หรือเปลี่ยนเพื่อนสนิทให้กลายเป็นคนไกล ...อาจสร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่หรือบั่นทอนกำลังใจให้เหือดหาย ทุกอย่างเป็นไปได้เพียงเพราะแค่"คำพูด"ของคน
จากนั้น กิเดโอนก็ข้ามน.จอร์แดนไล่ตามทหารมีเดียนไปอย่างไม่ลดละ เพราะหัวหน้าของคนมีเดียนที่หนีไปเนี่ยเคยฆ่าพี่น้องท้องเดียวกันกับเขา แล้วตอนที่ตามศัตรูไปกิเดโอนก็ได้เอ่ยปากขอแบ่งอาหารจากคนอิสราเอลด้วยกันที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก เพื่อที่จะเอามาเลี้ยงกองทหารที่กำลังไล่ตามศัตรู.. แต่ชาวเมืองสุคคทที่เป็นคนอิสราเอลด้วยกันเนี่ยไม่ให้..ปฏิเสธไม่ยอมแบ่งอาหารให้กิเดโอนกับพวก พวกเขาพูดประมาณว่า “จับศัตรูได้แล้วหรือไง ถึงบอกให้เอาอาหารมาเลี้ยงน่ะ” กิเดโอนก็เลยโมโห บอกกับชาวบ้านที่ไม่มีน้ำใจพวกนี้ว่า “เดี๋ยวถ้าจับศัตรูได้แล้ว จะกลับมาคิดบัญชี”
ว่าแล้วกิเดโอนก็เดินทางต่อ...จนไปถึงเมืองเปนูเอล แล้วก็เอ่ยปากขอแบ่งอาหารจากชาวเมืองนี้อีกครั้ง คำตอบที่ได้รับก็เหมือนเดิม คือถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย กิเดโอนเลยบอกว่าคอยดูนะ...เดี๋ยวเขาจะกลับมาพังป้อมของเมืองนี้ คือพูดด้วยความแค้น....เพราะเป็นพี่น้องร่วมชาติกันแท้ๆยังจะแล้งน้ำใจ แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง... พวกชาวบ้านคงกลัวชาวมีเดียนจะกลับมาแก้แค้นมากกว่าถ้าเลี้ยงอาหารกิเดโอนกับพวก เพราะพวกเขาไม่คิดว่ากิเดโอนจะเอาชนะพวกมีเดียนได้
ในที่สุดกิเดโอนก็จับตัวหัวหน้าสองคนนี้ได้ เสร็จแล้วก็ลากตัวกลับมาที่เมืองสุคคทแล้วก็พูดกับชาวเมืองนั้นประมาณว่า “เอ้า..ดูซะให้เต็มตา นี่ไงศัตรูที่พวกเจ้าเคยดูถูก...คิดว่าเราคงไม่มีวันที่จะจับตัวได้ วันนั้นถึงไม่ยอมแบ่งอาหารให้เรา” ว่าแล้วกิเดโอนก็จัดการลงโทษชาวเมืองสุคคทแล้วก็ทำลายป้อมของเมืองเปนูเอลตามที่เคยพูดไว้ หลังจากนั้นก็ฆ่าหัวหน้าชาวมีเดียนที่จับตัวมาได้
กิจการต่อไปและมรณกรรมของกิเดโอน
ดูผวฉ.8:22-24 ข้อนี้บอกว่าคนอิสราเอลรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ คือสามารถเอาชนะพวกมีเดียนได้ ก็เลยอยากให้กิเดโอนเนี่ยมาเป็นกษัตริย์ปกครองพวกเขาซะเลย แต่กิเดโอนไม่เอา.... กิเดโอนบอกว่าพระเจ้าจะทรงปกครองชาติอิสราเอลเอง
แต่ว่ากิเดโอนก็ได้ขอสิ่งหนึ่งกับชาวอิสราเอล คือ ขอให้ประชาชนถวายต่างหูทองคำที่ริบมาจากชาวมีเดียนให้กับเขา ทุกคนก็โอเค..เสร็จแล้วกิเดโอนก็เอาทองมาหลอมรวมกันแล้วทำเป็นรูปเอโฟด (เครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญของปุโรหิต) แล้วก็เอาไปตั้งไว้ที่เมืองโอฟราห์ พระคำภีร์ระบุว่า..หลังจากนั้นไม่นานคนอิสราเอลก็หลงเอาไอ้เจ้าเอโฟดที่กิเดโอนสร้างเนี้ย มาเป็นรูปเคารพ...กราบไหว้มันเทียบเคียงพระเจ้าเลย
ดูผวฉ.8:29-32 พระคำภีร์ตอนนี้ทำให้เรารู้ว่า ถึงแม้กิเดโอนจะไม่รับตำแหน่งกษัตริย์ของอิสราเอล แต่เขาก็มีความเป็นอยู่...แล้วก็ใช้ชีวิตไม่ต่างจากกษัตริย์ซักเท่าไหร่ คือมีบ้านหลังใหญ่...เหมือนสร้างอาณาจักรของตัวเอง แล้วก็มีเมียหลวงกับเมียน้อยหลายคน มีลูกเยอะมากถึงเจ็ดสิบคน....แล้วหนึ่งในนั้นก็คือ อาบีเมเลค (เดี๋ยวเราจะเรียนเรื่องของ อาบีเมเลค กันต่อ) และเช่นเคย...หลังจากที่กิเดโอนเสียชีวิตไป คนอิสราเอลก็ลืมพระเจ้าอีก หลงหายไปไหว้พระอื่นอีกครั้ง (ตามเคย)
รัชกาลอาบีเมเลค
ดูผวฉ.9:1-3/4-6 อาบีเมเลคก็คือลูกชายคนหนึ่งของกิเดโอน ที่เกิดจากเมียน้อยชาวเชเคม หมายถึงเป็นคนคานาอันนะ...ไม่ใช่คนอิสราเอลที่อาศัยอยู่ในเชเคม ในข้อนี้บอกว่า อาบีเมเลคได้ไปหาแม่กับญาติๆที่เมืองเชเคม แล้วก็พูดหว่านล้อมคนกลุ่มนี้ในฐานะที่เป็นคนบ้านเดียวกัน ให้สนับสนุน ช่วยเหลือตัวเองให้เป็นกษัตริย์ ชาวเชเคมที่เป็นพวกเดียวกันกับแม่ของอาบีเมเลคก็เลยช่วยกันฆ่าลูกคนอื่นๆของกิเดโอน แล้วตั้งให้อาบีเมเลคเป็นกษัตริย์ (แต่ไม่ใช่กษัตริย์ที่ครองทั้งประเทศเหมือนที่เราเข้าใจหรอก เพราะอาบีเมเลคปกครองแค่สองสามเมืองในแถบนั้น) แต่ยังไงก็ตามในข้อที่๕ บอกว่ามีลูกคนสุดท้องของกิเดโอนคนหนึ่งชื่อ “โยธาม” ที่สามารถหนีรอดมาได้
ดูผวฉ.9:7-10/11-15 ในข้อนี้บอกว่า โยธามได้ขึ้นไปบนภ.เกริซิมแล้วก็แผดเสียงร้อง ตักเตือนชาวเชเคมในลักษณะคล้ายๆจะเป็นคำพยากรณ์ โดยใช้คำอุปมาเปรียบเทียบคนอิสราเอลเป็นต้นไม้ แล้วก็เปรียบผู้ใหญ่หรือผู้นำที่ดีของอิสราเอลเป็นต้นมะกอกเทศ ต้นมะเดื่อ แล้วก็เถาองุ่น ทำไมถึงต้องเปรียบคนดีเป็นต้นไม้สามอย่างนี้ เพราะต้นไม้ทั้งสามอย่างนี้ให้ผลดี และเป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ โยธามบอกว่าต้นไม้ต่างๆได้ไปเชิญต้นมะกอก ต้นมะเดื่อแล้วก็เถาองุ่นให้มาปกครองตนเอง อันนี้หมายถึงชาวอิสราเอลได้เคยขอให้ผู้นำที่ดี ผู้นำที่เคยสร้างประโยชน์สุขให้แก่อิสราเอล มาเป็นกษัตริย์ปกครองพวกเขา แต่ผู้นำที่ดีนั้นก็ไม่เอา อย่างเช่นกิเดโอนพ่อของโยธามเองก็ไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ เด็กๆคิดว่าเพราะอะไร ผู้ใหญ่หรือผู้นำที่ดี ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสัตย์ซื่อและเสียสละมักจะไม่ค่อยยอมรับตำหน่งผู้นำคนสำคัญต่อ...ถ้าไม่จำเป็น เพราะเขาไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์ หรือเกียรติยศชื่อเสียงใดๆ และการเป็นผู้นำในทุกสถาบันนั้น แท้จริงแล้วมันหมายถึงภาระหน้าที่อันหนักหน่วง การเสียสละทั้งเวลาและความสุขส่วนตัวอย่างแท้จริงเพื่อส่วนรวม เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้นำที่ดีๆมักต้องการที่จะเกษียณตัวเองเมื่อถึงเวลาอันสมควร คือเมื่อเขาคิดว่า..ตนเองก็ได้สร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคมหรือสถาบันมาจนสมควรแก่เวลาแล้ว ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ เห็นแก่เกียรติยศชื่อเสียง มองตำแหน่งผู้นำเป็นเหมือนการได้เป็นคนพิเศษ มีอำนาจวาสนาบารมี คนกลุ่มนี้มักจะมีความทะยานอยาก และพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ (เหมือนอย่าง"อาบีเมเลค" นี่ไง) ต่างจากผู้นำที่ดีอย่างสิ้นเชิง ที่มักจะมีคนไปเชิญให้มาเป็น...แต่ก็ยังไม่ค่อยอยากจะรับ (ในสังคมการเมืองบ้านเราก็ยังมีให้เห็น)
ในข้อที่๑๔.บอกว่า “บรรดาต้นไม้ก็เลยไปขอให้ต้นหนามไข่กุ้งมาปกครองพวกตน..”ต้นหนามไข่กุ้งเท่าที่น้าตุ๊กค้นเจอ รู้สึกว่าเขาจะใช้ทำแยมแต่มันเป็นต้นไม้ที่ไม่ให้ร่มเงา แล้วก็ติดไฟง่าย” โยธามเปรียบอาบีเมเลคเป็นต้นหนามไข่กุ้ง ที่ประชาชนไปสนับสนุนขึ้นมาเป็นกษัตริย์ ซึ่งจะไม่ได้ให้ร่มเงาหรือความร่มเย็นกับพวกเขาเลย ตรงกันข้าม ต้นหนามไข่กุ้งนั้นจะติดไฟง่าย สามารถเผาผลาญทุกอย่างให้วอดวายไปชั่วพริบตา เช่นเดียวกับอาบีเมเลค ที่เขาเองจะเป็นเหตุสร้างความเดือดร้อนให้ชาวเชเคม .....ในข้อที่๑๙. โยธามก็กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าประชาชนแน่ใจว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว ก็ขอให้ชื่นชมยินดีกันทั่วหน้า แต่ถ้าสิ่งที่พวกเขาทำนั้น มันไม่ถูกต้องก็ขอให้ทั้งสองฝ่ายเป็นเหมือนไฟที่จะเผาผลาญซึ่งกันและกัน พูดเสร็จโยธามก็หนีไปอยู่ที่เบเออร์
ดูผวฉ.9:22-25 อาบีเมเลคปกครองอิสราเอลได้สามปี คำพยากรณ์ของโยธามก็เป็นจริงขึ้นมา เพราะอาบีเมเลคกดขี่ประชาชนมาก พวกเขาก็เลยดิ้นรนวางแผนก่อการกบฎ แกล้งละเมิดกฎหมายสร้างสถานะการณ์ความเดือดร้อนไปทั่วในขณะที่อาบีเมเลคไม่อยู่ที่เชเคม แต่”เศบุล”เจ้าเมืองคนหนึ่งก็ได้ส่งข่าวการกบฎของประชาชนไปให้อาบีเมเลครู้ อาบีเมเลคก็เลยกลับมาจัดการพวกกบฎซะราบคาบ
แต่ขนาดราบคาบแล้วอาบีเมเลคก็ยังไม่ยอมหยุด.....กะว่าจะต้องสั่งสอนชาวเมืองซะให้เข็ด ทั้งชาวนา ชาวไร่ ไม่เว้นว่าจะเป็นเด็กหรือผู้หญิง
ดูผวฉ.9:46-49 ในข้อนี้บอกว่า มีชาวเมืองกลุ่มหนึ่งหนีตายไปรวมกันอยู่ในป้อมของวัด พอรู้ถึงหูอาบีเมเลค เขาก็พาพรรคพวกตัดไม้ตัดฟืนแบกไปที่ป้อมที่ชาวหอเชเคมหลบอยู่ เสร็จแล้วก็จัดการเผาป้อมย่างสดคนที่อยู่ข้างในซะสิ้นซาก ครั้งนั้นชาวหอเชเคมก็ตายไปร่วมพันคน (หยุดไม่อยู่แล้ว..ความบ้าบิ่นของอาบีเมเลค)
ดูผวฉ.9:50-54 หลังจากที่อาบีเมเลคเผาป้อมของชาวหอเชเคมแล้วเขาก็ยังบ้าเลือดไม่หยุด ยกไปยึดเมืองเธเบศ ประชาชนในเมืองนั้นก็หนีเข้าไปอยู่ในหอรบแห่งหนึ่ง ปิดประตูขังตัวเองแล้วก็หนีไปซ่อนอยู่บนหลังคา อาบีเมเลคก็ตามเข้าไปกะจะจุดไฟเผาให้ตายหมู่เหมือนที่หอเชเคม แต่พอเขามาถึงประตูทางเข้าหอรบ ก็มีหญิงคนหนึ่งสบโอกาสหยิบหินโม่แป้งทุ่มใส่หัวอาบีเมเลคกะโหลกแตกแต่ยังไม่ตาย...
ในข้อที่๕๔.บอกว่า “ท่านจึงรีบร้องบอกคนหนุ่มที่ถืออาวุธของท่านว่า เอาดาบฟันเราเสียเพื่อคนจะไม่กล่าวว่า ผู้หญิงคนหนึ่งฆ่าเขาตาย”.... พอถูกผู้หญิงเอาหินโม่แป้งทุ่มหัว...กะโหลกแตกใกล้ตาย พะงาบๆ เลยรีบบอกคนสนิทที่มาด้วยกันว่า เอาดาบฆ่าชั้นให้ตายที จะได้ไม่มีใครว่าได้...ว่าชั้นถูกผู้หญิงฆ่าตาย” แน่ะ...มีอาย ไม่อยากให้ใครดูถูกว่ามาตายด้วยน้ำมือสตรี เพราะห้าวหาญชาญชัยมาตลอด รบชนะฆ่าฟันคนมาเป็นหมื่นเป็นพัน แต่สุดท้ายมาตายน้ำตื้น (ถูกหินโม่แป้งทุ่มหัวตาย) .......ว่าแล้วคนสนิทก็สนองพระเดชพระคุณ ใช้ดาบแทงอาบีเมเลคจนถึงแก่ความตาย ทุกอย่างก็จบลงได้ตามคำพยากรณ์ของโยธาม
หลังจากนั้นอิสราเอลก็มีผู้วินิจฉัยอีกสองคนคือ โทลา และ ยาอีร์ แต่พระคำภีร์ไม่ได้บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการทหารและการเมืองในสมัยของทั้งสองท่านนี้ไว้ เข้าใจว่า คงจะเป็นผู้ปกครองวินิจฉัยทางราชการ และคงไม่มีเหตุการณ์โลดโผนอะไรมากมายนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น