วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

หนังสือผู้วินิจฉัย ครั้งที่1

พระธรรมผู้วินิจฉัย เป็นหนังสือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่โยชูวานำชาติอิสราเอลเข้ามาอยู่ในคานาอันแล้วประมาณ 200 ปี
จุดประสงค์ของหนังสือ “ผู้วินิจฉัย”
1.เพื่อให้ประชากรของพระเจ้าระลึกอยู่เสมอว่า ความรักและสัตย์ซื่อในพระเจ้าคือสิ่งสำคัญที่สุด
2.เพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตและเสถียรภาพของชาติอิสราเอลหลังจากที่โยชูวาสิ้นชีวิตไปแล้ว
3.เพื่อสำแดงให้เห็นถึงพระกรุณาอันชอบธรรม อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของพระเจ้า เพราะไม่ว่าคนของพระองค์จะทำผิดซ้ำซากมากแค่ไหน แต่เมื่อพวกเขากลับใจใหม่....ร้องหาพระเจ้า พระองค์ก็ทรงอภัยให้และช่วยเหลือลูกๆของพระองค์เสมอ
ประเด็นหนึ่งที่อยากให้เด็กๆมองภาพของหนังสือผู้วินิจฉัย ก็คือ หลังจากที่โยชูวาเสียชีวิตไปแล้ว อิสราเอลก็ไม่มีผู้นำ.........
ในเวลาที่อิสราเอลขาดผู้นำหลังจากที่โยชูวาตายไปแล้วนั้น ขณะเดียวกันพวกเขาตกอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะหลังจากที่ได้แบ่งเขตแดนกันแล้ว รูปแบบความเป็นอยู่ทางสังคมของอิสราเอลก็เปลี่ยนไป พวกเขาต้องแยกกันอยู่หลังจากที่เคยอยู่รวมกันมานาน จากที่เคยมีผู้นำคอยบอกให้ไปซ้ายไปขวา คอยตักเตือนในเวลาที่พวกเขาทำผิด หรืออธิฐานเพื่อพวกเขาเสมอในเวลาที่พวกเขาหมดหนทาง ตอนนี้ก็ไม่มี.... ต้องอยู่แบบตัวใครตัวมัน นอกจากนี้ ยังต้องอยู่ปะปนกับชาวคานาอันด้วย เพราะในหนังสือยชว.บอกไว้ชัดเจนว่าอิสราเอลไม่สามารถขับไล่หรือทำลายชาวคานาอันให้หมดสิ้นไปได้ และในผวฉ.ก็บอกไว้เช่นกัน
อ่าน ผวฉ.1:21 ผวฉ. 1:27 ผวฉ. 1:29-30 ผวฉ.1:32-33
ข้อพระคำภีร์เหล่านี้ยืนยันว่า อิสราเอลต้องอยู่ร่วมกับคนคานาอัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่ แล้วบางทีก็ต้องยืมวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองเดิมมาใช้ (เด็กๆอาจจะคิดว่า เอ๊ะ!แล้วทำไมต้องยืมของเขามาใช้ด้วย เพราะน้าตุ๊กเคยบอกว่าวัฒนธรรมหรือประเพณีนั้นเป็นสิทธิอำนาจที่พึ่งพาไม่ได้)
เพราะบางครั้ง วัฒนธรรมก็เป็นเรื่องของภูมิปัญญาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่น หมายความว่า บางทีมันก็มีส่วนทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แล้วถ้ามันไม่ขัดกับทางของพระเจ้า....อิสราเอลก็สามารถจะยืมมาใช้ได้ อย่างเช่น ปัจจุบันนี้...บางท้องถิ่นอาจจะมีการช่วยเหลือกันในฤดูเก็บเกี่ยว ผลัดกันไปช่วยเพื่อนบ้านเกี่ยวข้าว ถือเป็นวัฒนธรรมหรือประเพณีของท้องถิ่น อันนี้โอเค เพราะมันทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เป็นผลดีกับทุกคนและไม่ขัดกับพระบัญญัติของพระเจ้า แต่ไม่ใช่...พอช่วยกันไปช่วยกันมา ก็สนิทกันมาก เลยเกรงใจกันมาก ถึงเวลาเขาชวนไปทอดกฐินทำบุญเ้ก้าวัด....ก็ไปกับเขาซะงั้น เนี่ย...ที่ปัญหามันเกิดขึ้นมันก็เริ่มมาอย่างเงี้ย เกรงใจเพื่อน.....ไม่แยกให้ขาด ว่าอันไหนเอาอย่างได้ แล้วอันไหนที่ไปร่วมกับเขาไม่ได้
ดูผวฉ.2:8-10 “...อีกชาติพันธ์หนึ่งก็เกิดขึ้นตามมา เขาไม่รู้จักพระเจ้าหรือรู้ราชกิจที่พระเจ้าได้กระทำเพื่ออิสราเอล” นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้เรามองภาพได้ชัดเจนขึ้น เพราะเราได้รู้ว่าหลังจากสมัยของโยชูวาแล้ว อิสราเอลที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสมัยผู้วินิจฉัยนั้นไม่ได้ติดสนิทกับพระเจ้า แต่ละเผ่าก็คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง แล้วก็เริ่มคล้อยตามความเชื่อของชาวคานาอัน
ดู ผวฉ2:11-13/14-15 คำว่า “อิสราเอลกระทำสิ่งที่ชั่วในสายพระเนตรพระเจ้า” นั้นเป็นสำนวนที่หมายถึงการที่อิสราเอลละทิ้งพระเจ้าไปกราบไหว้พระบาอัลหรือพระอื่น (ให้เด็กๆเข้าใจไว้เลย) ทำให้พระเจ้าลงโทษพวกเขาด้วยการให้ชนชาติต่างๆนั้นมารุกรานอิสราเอล
ก่อนที่จะเรียนหนังสือโยชูวา น้าตุ๊กสอนเคยเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนคานาอันรวมถึงพระต่างๆที่พวกเขากราบไหว้ไปแล้ว อย่างพระบาอัลก็เป็นพระที่ชาวคานาอันเชื่อว่ามีฤทธิ์สามารถทำให้ทุกสิ่งที่มีชีวิตนั้นเกิดผลหรือมีความอุดมสมบูรณ์ และในที่ๆพวกเขาประกอบพิธีกรรมก็จะมีชายหญิงอยู่ประจำสำหรับร่วมประเวณีในพิธีกรรมทางศาสนาด้วย (เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์)
เพราะฉะนั้น เมื่ออิสราเอลหลงไปกระทำตาม ก็เท่ากับว่า พวกเขาล่วงประเวณีทั้งทางฝ่ายเนื้อหนังและฝ่ายวิญญาณ ซึ่งเป็นการละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าข้อที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้
ย้อนไปดูผวฉ.2:1-3 “..เขาจะเป็นหอกข้างแคร่ และพระของเขาจะเป็นบ่วงดักเจ้า”
จริงๆแล้วการที่พระเจ้ายังปล่อยให้มีคนคานาอันเหลืออยู่เนี่ย เหตุผลหนึ่งก็เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่คนอิสราเอล ทั้งในเรื่องการดูแลทรัพยากรให้ดำรงอยู่ (ทั้งต้นไม้ ต้นข้าวที่ออกดอกออกผลหล่อเลี้ยงชีวิตคน) เพราะถ้าไม่มีชาวถิ่นเดิมที่เป็นงานเหลืออยู่เลย อิสราเอลคงจะลำบากเพราะยังดูแลผลผลิตไม่เป็น อย่าลืมว่าอิสราเอลเคยชินกับการเร่ร่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดารหลายสิบปี เพราะฉะนั้น การเลี้ยงสัตว์หรือการปลูกพืชต่างๆ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เป็นหลักเป็นฐานเหมือนกับตอนที่เข้ามาอยู่ในคานาอัน หรือแม้แต่..การระวังสัตว์ร้ายที่อยู่ตามป่าตามเขา ก็ต้องเรียนรู้ทักษะการระแวดระวังจากคนพื้นที่ เพราะฉะนั้น การมีคนถิ่นเดิมอยู่ด้วย จริงๆแล้ว...ก็เป็นเรื่องจำเป็น
และในทางตรงกันข้าม ถ้าเมื่อไหร่ที่อิสราเอลละทิ้งพระเจ้าหรือละเมิดพันธสัญญา พระเจ้าจะทรงบันดาลให้ชาวเมืองที่เป็นประโยชน์เหล่านั้น หันมาเป็นศัตรูทำร้ายอิสราเอล แล้วนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ข้อคิดและเรียนรู้จากเรื่องนี้ “ว่าพระเจ้าทำได้ทุกอย่าง” ทั้งเปลี่ยนสิ่งร้ายกลายเป็นดี หรือเปลี่ยนสิ่งดีๆให้ร้ายสุดๆ พระองค์ก็ทำได้ถ้าเราไม่เชื่อฟัง
ดูผวฉ.2:16-18 “พระเจ้าทรงให้เกิดผู้วินิจฉัย...”
ผู้วินิจฉัย คือใคร
ผู้วินิจฉัย ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า judge ที่แปลว่า ผู้พิพากษา ตัดสินหรือภาษากฎหมายก็เรียกว่า “ตุลาการ” แต่ในพระคำภีร์ของเรา ผู้วินิจฉัย คือ บุคคลที่พระเจ้าทรงเรียกมาให้เป็นผู้ปลดปล่อยอิสราเอลให้พ้นจากอำนาจของศัตรูในสถานการณ์ต่างๆ
ดูผวฉ.2:19-20/21-23 พระคำช่วงนี้ คือการบอกเล่าถึงวงจรการดำเนินชีวิตของอิสราเอล ที่หลงผิดละทิ้งพระเจ้า พอทนทุกข์หนักเข้าเพราะถูกลงโทษก็หันหน้ากลับมาร้องขอพระกรุณาจากพระองค์ แต่พอพระเจ้าส่งผู้วินิจฉัยมาปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ได้อยู่ดีมีสุขก็กลับหลงลืม หันหลังให้พระองค์อีก พระเจ้าก็ลงโทษอีก พอเกิดความทุกข์ยากอิสราเอลก็สำนึกผิดหันกลับมาหาพระองค์ใหม่พระองค์ก็ทรงประทานผู้วินิจฉัยมาปลดปล่อย วนเวียนอยู่อย่างงี้ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมแล้วจำนวนผู้วินิจฉัยที่พระเจ้าปประทานให้ทั้งหมดมี ๑๒ คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น